“งานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2564 Mahidol University Social Engagement Forum 2021 (MUSEF 2021) (Virtual Conference)วันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 10:00 – 11:00 น.
มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 เปิดโลกแห่งความรู้นำสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง
มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 ในคอนเซ็ปต์ Virtual Conference เปิดโลกแห่งองค์ความรู้และงานวิจัยครั้งสำคัญในไทย งานเดียวที่รวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการ งานวิจัย บุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์การแพทย์ องค์การภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมนำเสนอ แลกเปลี่ยนความรู้และร่วมพัฒนาแนวคิดที่นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้ใหม่
การขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้ใหม่เป็นอีกก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จากการรวมตัวของบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลกับองค์การภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อต่อยอดและร่วมพัฒนางานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายชี้นำสังคม ในชื่องาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021” (Mahidol University Social Engagement Forum) ในรูปแบบของงานสัมมนาออนไลน์ (Virtual Conference) ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564
หัวใจของการจัดงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021” อยู่ที่การเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัย ประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดการผลักดันกระบวนการเชิง Policy Advocacy เพื่อสนับสนุนและผลักดันยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการนำผลงานวิจัยไปสู่การเป็นนโยบายพัฒนาสังคมไทยให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดเครือข่ายระหว่างอาจารย์หรือนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับองค์การภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อต่อยอดและร่วมพัฒนางานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายชี้นำสังคม
ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ไฮไลท์ของงานอัดแน่นไปด้วยความรู้ทางด้านวิชาการ จากการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล กับการบรรยายและเสวนาใน 4 หัวข้อ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล จากการบรรยายหัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสังคม” หัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดล กับ Sustainable Development Goals” บรรยายโดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ข้อคิดดี ๆ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดลเขยื้อนสังคม”
อีกหนึ่งสาระสำคัญในงานมาจากการเสวนาหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลกับการชี้นําสังคม : กรณีศึกษา COVID-19 โดยคณะแพทย์ทั้ง 2 แห่งที่กำลังมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา – คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา – คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะถ่ายทอดความรู้ และข้อมูลสำคัญ ทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันการแพร่ระบาด วิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงการมีส่วนผลักดันให้รัฐบาลกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
การนำเสนอผลงานเชิงวิชาการรับใช้สังคมจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ในผลงานประเภท Poster Presentation และ Oral Presentation เพื่อนำเสนอข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัย นำไปสู่การผลักดันให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นนโยบาย ในท้ายที่สุด
ภายในงาน มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 ยังมีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับสำหรับ Workshop จากกลุ่มนักวิจัย และกลุ่มผู้ทำงานภาคสังคม ได้แก่ เวิร์คชอป “MU Organic” วงสนทนาเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องหมายมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์จากความร่วมมือของนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับรองมาตรฐานอย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการได้ทดลองตรวจสอบแปลงผักแบบ Live ที่จะพาผู้เข้าร่วมไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพแปลงผักด้วยกัน รวมถึง การรณรงค์ลดการบริโภคเกลือโซเดียม ในประชากรไทยเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเวิร์คชอปเกี่ยวกับ Social Engagement: แผนภาพแสดงผลกระทบทางสังคม (Social Impact Canvas) ที่จะชวนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้เครื่องมือ และวิธีการใช้เครื่องมือกับงานประเภทต่าง ๆ ในการออกแบบและประเมินผลกระทบทางสังคม และที่พลาดไม่ได้ กับการทำเวิร์คชอปที่เกี่ยวกับ นวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19
กิจกรรม Spatial Chat – Speed Networking ที่จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักนักวิจัยและผู้ทำงานภาคสังคม และร่วมพูดคุยกับคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน กับ Sharing Space เพื่อทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ใน 6 กลุ่มประเด็นหลัก ได้แก่ กลุ่มงานบริการชุมชน กลุ่มตัวกลางในการสร้าง Impact เช่น Social Accelerator, Social Impact หรือ Corporate CSR กลุ่มประเด็นเด็กและเยาวชน กลุ่มประเด็นสุขภาพ กลุ่มประเด็นผู้สูงอายุ และ Inclusiveness และ กลุ่มประเด็นวัฒนธรรม
จากการพบกันของ 3 sectors ได้แก่ กลุ่มผู้ทำงานวิจัย กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย และ ภาคประชาสังคม ในงาน มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายระหว่างอาจารย์หรือนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับองค์การภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อต่อยอดและร่วมพัฒนางานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคมที่เกิดประโยชน์กับประเทศในภาพรวม
สำหรับงานแถลงข่าว “งานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2564” MU Social Engagement Forum 2021 (MUSEF 2021) จัดขึ้นในวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Conference) โดย สื่อมวลชน เข้าร่วมฟังการสัมมนาผ่านระบบ Zoom และรับชมผ่าน Facebook live : MahidolPr เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
กิจกรรมไฮไลท์ที่น่าสนใจ การบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล
การบรรยายและเสวนาใน 4 หัวข้อ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่
- การบรรยายหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสังคม
โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
- การบรรยายหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลกับ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
- การบรรยายหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลเขยื้อนสังคม
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ - การเสวนาหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลกับการชี้นําสังคม : กรณีศึกษา COVID-19 โดยคณะแพทย์ทั้ง 2 แห่งที่มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา – คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา – คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะมาให้ความรู้ และข้อมูลสำคัญทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันการแพร่ระบาด วิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงการมีส่วนผลักดันให้รัฐบาลกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
กิจกรรม Workshop จากกลุ่มนักวิจัย และกลุ่มผู้ทำงานภาคสังคม
กิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานวิชาการด้านสังคมมีความเข้มข้น และสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้เกิดประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการส่งต่อความรู้โดยใช้การจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตระหนักรู้ รับทราบ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้จากการจำลองสถานการณ์จริง พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป
ทีมวิทยากร ผศ.นิวัต อุณฑพันธุ์ / พินณารักษ์ พันธุมาศ / สายชล บริสุทธิ์ และพฐา สุขารมณ์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายข้าวอินทรีย์ภาคเหนือตอนล่าง 2 และ เครือข่ายมาตรฐาน MU Organic
วงสนทนาการพัฒนาเครื่องหมายมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์จากความร่วมมือของนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับรองมาตรฐานอย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการได้ทดลองตรวจสอบแปลงผักแบบ Live ที่จะพาผู้เข้าร่วมไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพแปลงผักฉบับ MU Organic ด้วยกัน
โครงการนี้ได้รับรางวัล Public Policy Advocacy Award จากงานมหกรรมคุณภาพมหิดล 2020 เป็นการนำเสนอประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 7 ปี ของการสร้างเครือข่ายการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และลดการบริโภคเกลือโซเดียม เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
แบ่งปันความรู้จากการนำกิจกรรมภารกิจพิชิตจุดเสี่ยงไปขยายผลในรูปแบบต่างๆ และร่วมออกไอเดียการสร้างความปลอดภัยให้กับลูกหลานใกล้ตัวของเราทุกคน เพื่อร่วมหาวิธีการที่สามารถนำไปลงมือทำได้ทันที
เมื่อเรากำลังเข้าสู่สังคมยุค Aging Society นวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยให้การดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ มารู้จักเทคนิควิธีการดูแลผู้สูงอายุสำหรับทุกคนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน
ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นทุกปี ชวนร่วมประเมินแนวทางการลด PM2.5 และศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้รถใช้ถนน
พื้นที่แบ่งปันแนวทางการขับเคลื่อนจากไอเดียสู่ระดับนโยบายจากการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทุกระดับ เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นข้อเสนอแนะที่พร้อมใช้งานในระดับนโยบาย พร้อมเปิดพื้นที่ให้กับผู้สนใจหรือผู้เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น เพื่อร่วมกันต่อยอดไอเดียและช่วยกันสร้างแนนวทางการเยียวยาให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
การนำเสนอผลงานเชิงวิชาการรับใช้สังคมจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล
(Poster Presentation and Oral Presentation)
นำเสนอผลงานประเภท Poster Presentation และ Oral Presentation ผ่าน Online Platform Spatial Chat โดยนำเสนอข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัย และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยและ Stakeholders ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อค้นพบที่ได้นั้นไปผลักดัน หรือขับเคลื่อนสู่การกำหนดเป็นนโยบาย (Policy Advocacy) ได้แก่
- กิจกรรม Spatial Chat – Speed Networking
เปิดพื้นที่เพื่อทำความรู้จักระหว่างนักวิจัยและผู้ทำงานภาคสังคม และร่วมพูดคุยกับคนใหม่ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน กับ Sharing Space เพื่อทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ใน 6 กลุ่มประเด็นหลัก ดังนี้
- กลุ่มงานบริการชุมชน
- กลุ่มตัวกลางในการสร้าง Impact เช่น Social Accelerator Social Impact หรือ Corporate CSR
- กลุ่มประเด็นเด็กและเยาวชน
- กลุ่มประเด็นสุขภาพ
- กลุ่มประเด็นผู้สูงอายุ และ Inclusiveness
- กลุ่มประเด็นวัฒนธรรม
สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
Facebook : @musefConference https://www.facebook.com/MUSEFconference
Email : musef_mahidol@mahidol.ac.th