นายสัตวแพทย์ อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และคุณฌาร์ม โอสถานนท์ ที่ปรึกษา
สมาคมฯ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2006 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ร่วมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงภัยโรคพิษสุนัขบ้า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในการระบาดของ “โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” ที่เกิดขึ้น
หลายจังหวัดในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันความนิยมในการเลี้ยงสัตว์ของคนไทยเพิ่มขึ้นมาก เช่น สุนัข และแมว แต่ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมองว่า “เป็นเรื่องไกลตัว”
นายสัตวแพทย์ อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคติดต่อที่สำคัญระหว่างมนุษย์และสัตว์ (Zoonosis) เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุล Lyssavirus วงศ์
Rhabdoviridae ปัจจุบันยังไม่มียารักษา มีแต่วัคซีนป้องกันโรค เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ตั้งแต่ช้างจนถึงกระรอก เชื้อนี้ในธรรมชาติพบได้ในสัตว์จำพวก สุนัขจิ้งจอก พังพอน หมาใน ลิงลม อีเห็น ค้างคาว โดยเฉพาะค้างคาวดูดเลือด ต่อมาได้มีการแพร่ระบาดเข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ สุนัข และแมว มนุษย์ติดต่อหรือได้รับเชื้อไวรัสนี้ จากสุนัขเป็นตัวการสำคัญ และแมวเป็น
อันดับรองลงมา การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้านั้น เชื้อไวรัสจะติดต่อ หรือเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และสัตว์โดยการถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัด ไวรัสในน้ำลายของสัตว์ป่วยจะเข้าทางบาดแผล และเดินทางไปยังระบบประสาทเข้าสู่ประสาทส่วนกลาง สัตว์ที่ถูกกัดโดยสัตว์ ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้าจะตายด้วยอาการทางประสาท คือ อัมพาตทั่วร่างกาย
โรคพิษสุนัขบ้า ทำให้เกิดโรคในสัตว์โดยทั่วไป มีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. ชนิดดุร้าย เมื่อสัตว์ถูกกัด และได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าร่างกาย จะแสดงอาการหวาดระแวง เดินหนีเจ้าของ หนีออกจากบ้าน เดินหรือวิ่งโดยไร้จุดหมาย เมื่ออาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการขากรรไกรเป็นอัมพาตน้ำลายไหลตลอดเวลา ม่านตาเปิดกว้าง หางตก ลำตัวแข็งอยู่ในแนว
ตรง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ ยางรถยนต์ ฯลฯ ส่งเสียงหอน หายใจติดขัด และตายในที่สุด รวมระยะเวลาตั้งแต่แสดงอาการจนถึงเสียชีวิต ประมาณ 7–10 วัน (มักพบในสุนัข)
2. ชนิดซึม ถ้าสัตว์เลี้ยงแสดงอาการแบบที่ 2 จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะมีหลายโรค ในสุนัข แมว ที่แสดงอาการดังกล่าว สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าแบบซึม จะแสดงอาการเบื่ออาหาร หลบเข้านอนในที่มืด หายใจหอบ หรือลำบาก ตัวแข็งเกร็ง ม่านตาเปิดกว้าง ผลสุดท้ายการหายใจล้มเหลว และตายในที่สุด รวมระยะเวลาตั้งแต่แสดงอาการจนถึงเสียชีวิต ประมาณ 10–12 วัน (มักพบในแมว )
ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่เคยพบเห็นในอดีต (ช่วง ปี 2530–ปี 2545) 1. ช้าง อายุประมาณ 30 ปี เพศเมีย เดินเร่ร่อน ในกทม. ถูกสุนัขบ้ากัดบริเวณงวง ควาญช้างนึกว่าคงไม่เป็นอะไร ต่อมาประมาณ 5 วันหลังถูกกัด สัตว์แสดงอาการ ขาหลังทั้งสองข้างแข็งเกร็ง ม่านตาเปิดกว้าง ขากรรไกรแข็ง งวงยกไม่ได้ ใบหูโบกช้ามาก อีก 2 วันต่อมา สัตว์ตกในบ่อโคลน และตายในที่สุด
การป้องกัน เมื่อมีช้างถูกสุนัขกัด ทำการรักษาโดยการทำความสะอาดบาดแผลและใส่ทิงเจอร์ไอโอดีน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 4 เข็ม (เข็มละ 1-5 ซี.ซี.) 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 วัน ช้างเร่ร่อนที่ถูกสุนัขกัด ประมาณ 10 เชือก รอดหมดทุกราย 2. สุนัขจิ้งจอก อายุประมาณ 3 ปี มีอาการซึม เจ้าของนำมาบริจาคนำเข้ากรงในสถานที่กักกันโรค ต่อจากนั้นสัตว์แสดงอาการดุร้าย อ้าปากใช้ฟัน และเขี้ยวกัดตาข่ายกรง จนเลือดกบปาก แต่ยังสามารถกินเนื้อ และน้ำได้ ต่อมาอีก 3 วันตาย ส่งตรวจสมองพบเชื้อไวรัสของโรคพิษสุนัขบ้า การป้องกัน คือ นำคนเลี้ยง 2 คน พบแพทย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที อาการปลอดภัยทั้ง 2 คน ในสุนัขจิ้งจอก เจอโรคดังกล่าว 4 ครั้ง สัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทุกราย
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคไวรัสชนิดนี้ยังไม่มียารักษา มีแต่วัคซีนป้องกันโรค ข้อแนะนำสำหรับป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว คือ
1. ถ้าเลี้ยงสุนัข แมว ไว้ในบ้าน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี และควรนำสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์ ตรวจร่างกายอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง
2. ถ้าถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือเลีย ให้ทำความสะอาดบาดแผลทันทีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือสบู่ทำความสะอาดบาดแผล และใส่ยาทิงเจอร์ไอโอดีน ทิงเจอร์โพวิโดน แล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว
3. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นงานประจำ เช่น ในสวนสัตว์ ฟาร์มเพาะขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง
4. ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงภายในบ้านไปเล่น หรือสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือสัตว์จรจัด
5. ถ้าสัตว์เลี้ยงภายในบ้านถูกสัตว์จรจัดกัดควรนำสัตว์ที่ถูกกัดพบสัตวแพทย์ทันที และควรจดจำ ลักษณะอาการของสัตว์จรจัดเพื่อให้ข้อมูลแก่สัตวแพทย์ที่ตรวจรักษาประกอบการพิจารณาวางแผนฉีดยาป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยงได้ถูกต้อง
6. ถ้าพบเห็นสุนัขที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ตาขวาง ปากอ้าหุบไม่ลง น้ำลายไหลยืด ตัวแข็ง หางตก ให้หลีกเลี่ยงให้ไกล หรือถ้าวิ่งหนี ให้วิ่งแนวตรงก่อนประมาณ 20 – 30 เมตร แล้ววิ่งหักข้อศอก คือ วิ่งในแนวตั้งฉาก 90 องศาทันที จะหลบหลีกจากสุนัขบ้ากัดได้ แต่ถ้าเห็นสุนัขบ้าแต่ไกลให้หลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดอย่าเข้าใกล้
7.ในกรณีที่มีการเลี้ยงสุนัข แมว จำนวนมาก เช่น ที่รับเลี้ยงสุนัข ที่พักพิง ต้องจัดการทำหมันสัตว์ทั้งหมด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ทุกตัว ปีละ 1 ครั้ง การทำความสะอาดสถานที่เลี้ยงควรใช้ยาฆ่าเชื้อโรคผสมน้ำทำความสะอาดพื้นกรงที่อยู่อาศัยทุกวัน
8. อย่านำสัตว์ป่าทุกชนิดเข้ามาเลี้ยงภายในบริเวณบ้าน เพราะนอกจากผิดกฎหมาย (พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) แล้วยังนำเอาโรคติดต่อที่ติดมากับสัตว์ป่าแพร่ระบาดในครอบครัว เช่น โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคแอนแทรกซ์ โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร โรคเลปโตสไปโรซิส ฯลฯ
คุณฌาร์ม โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2006 กล่าวว่า สมาคมฯ มีความห่วงใยในปัญหาดังกล่าว จึงขอความร่วมมือมายังประชาชนทั่วไปนำสัตว์เลี้ยงมาขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมว ผ่าตัดทำหมัน ฟรีทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้– 30 มิถุนายน 2562 รวมระยะเวลา 4 เดือน ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ให้เฝ้าระวัง หากพบสุนัข แมว อาการสงสัยป่วยหรือตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือผ่านแอพพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที